เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ขวบ ก็ถึงเวลาเลิกขวดนมได้แล้ว แต่มันจะเร็วไปมั้ย? คำตอบคือ ไม่เร็วไปค่ะ เพราะระบบย่อยอาหารของลูกน้อยพร้อมที่จะรับนมชนิดอื่น นอกจากนมผง และการเลิกขวดนมนี้ จะเป็นการถนอมรักษาฟันน้ำนมชุดแรกของลูกให้อยู่กับเค้าไปจนอายุ 5-7 ปี ได้ด้วย วันนี้ Babekits มี เทคนิคการเลิกขวดนม มาฝากคุณแม่ค่ะ

 

เทคนิคการเลิกขวดนมลูก

ฝึกลูกดื่มนมจากแก้ว หรือกล่อง ก่อนจะเริ่มปฎิบัติการณ์เลิกขวดนม คุณแม่ต้องมั่นใจแล้ว ว่า ลูกน้อยสามารถดื่มนมจากแก้ว หรือจากกล่องได้แล้ว คุณแม่เริ่มหัดให้ลูกน้อยได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยใส่น้ำปริมาณน้อยๆในแก้วให้ลูกฝึกจิบ หรือใช้หลอดสั้นๆ ไม่ต้องใช้แรงดูดมาก ให้ลูกลอง ถ้าลูกดื่มได้โดยไม่หก ไม่สำลัก แสดงว่าถึงเวลาที่คุณแม่จะเริ่มแผนการเลิกขวดนมได้แล้ว

 

วางแผนเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยก่อนเริ่ม ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องร่วมกันวางแผน นัดแนะกับคนเลี้ยง และทำใจให้แข็ง ห้ามใจอ่อนตามเสียงร้องไห้ของลูก สำหรับบ้านไหนที่ลูกอยู่ในวัย 2 ขวบ จะต้องควบคุมอารมณ์มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กวัยนี้ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ยอมทำตามที่คุณแม่บอก ทีนี้ก็มาถึงวิธีการแล้ว ว่าคุณแม่จะเลือกแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ แบบหักดิบ เอาล่ะ ดูข้อต่อไปกันเลย

 

เลิกขวดนมแบบหักดิบ วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่ติดขวดนมมาก พร้อมรับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา มีขั้นตอนตามนี้

1. บอกลูกน้อยล่วงหน้า ว่าถึงเวลาเลิกขวดนมแล้ว ประมาณ 3 วัน ให้เค้ารู้ตัวก่อน จะได้ไม่ต่อต้านคุณแม่มากนัก แต่สำหรับคุณแม่ที่ต้องการหักดิบลูกที่ค่อนข้างดื้อ ให้ข้ามข้อนี้ ไปต่อข้อ 2 กันเลย เพราะการพูดให้เค้ารู้ตัวก่อน ไม่มีประโยชน์แน่ค่ะ

2. บอกเหตุผลกับลูก ว่าทำไมต้องเลิกขวด สำหรับเด็กในวัยตั้งคำถาม คุณแม่ควรมองหาเหตุผลมาตอบคำถามลูก เช่น “การดูดขวด จะทำให้ลูกฟันผุ ทำให้ไม่มีฟันเคี้ยวขนมที่ลูกชอบนะ” ส่วนบ้านไหนที่เจ้าตัวเล็กมีนิสัยดื้อเอาการ คุณแม่ต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง (อาจจะจริง หรือหลอก เอาให้พอดูมีเหตุผลก็พอ) เช่น “มีตัวอะไรมากินขวดนมไปหมดแล้ว” หรือ “ไปเที่ยวแล้วลืมขวดนมทิ้งไว้ ไม่มีให้กินแล้ว” ถ้าจะให้เด็ดขาดขึ้นไปอีก ก็หาขวดนมที่ไม่ใช้แล้ว จับตัวอะไรที่ลูกไม่ชอบใส่ลงในขวดนม แล้วให้ลูกดู บอกว่า “มีตัว… ในขวดนมทุกขวดของหนูเลย กินขวดทั้งหมดไม่ได้แล้วนะ”

3. เก็บขวดนมให้หมด ไม่ควรจะให้ลูกเห็นขวดนมอีก คุณแม่ใจเด็ดจะทิ้งเลยก็ได้ หรือถ้ากลัวว่าอาจจำเป็นต้องใช้อีก คุณแม่จะเก็บใส่กล่องแล้วซ่อนไว้ให้พ้นสายตาลูกก็ได้ แต่อย่าให้ลูกเจออีกเด็ดขาด ไม่เช่นนั้น สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะเสียเปล่า

 

เลิกขวดนมแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ เหมาะสำหรับเด็กที่ติดขวดนม ทำตามนี้

1. ค่อยๆลดมื้อนมขวดลง และเพิ่มมื้ออาหารเข้ามาแทนที่ หากเจ้าตัวเล็กทานมื้ออาหารได้มาก เค้าจะไม่รู้สึกหิวนม ดังนั้นคุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกทานอาหารให้มาก อาจหลอกล่อด้วยเมนูจานโปรด พ่วงด้วยผลไม้ และขนมหวาน ก็ไม่เลว

2. สร้างอุปสรรคในการดูดนมขวดให้ลูก ทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากกินนมขวด โดยขยายรูของจุกนมให้กว้าง แต่อย่าให้ถึงขึ้นสำลัก เพื่อให้ลูกน้อยเพิ่มความระมัดระวังขึ้น หรือคุณแม่จะหาจุกนมที่รูแคบๆ เพื่อไม่ให้ลูกนอนดูดนมได้อย่างสบายๆ

3. สร้างเงื่อนไขในการกินนมให้ลูกน้อย สำหรับบ้านไหนที่ลูกว่านอนสอนง่าย และทำตามคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ล่ะก็ ถือว่าโชคดีมากค่ะ บอกเค้าไปเลยว่า ต่อไปนี้ ลูกจะทานนมทุกมื้อได้แล้วนะ เพราะหนูโตแล้ว ต่อไปให้ทานได้แค่ตอนเช้า และเย็น เท่านั้น ถ้าลูกทำได้สัก 3-4 วัน คุณแม่ก็ค่อยๆตั้งเงื่อนไข ลดมื้อนมขวดลงไปอีก จนเลิกได้ทุกมื้อ

 

ให้ลูกทานนมกล่อง หรือนมจากแก้ว แทนนมขวด ช่วง 1-2 อาทิตย์แรก เค้าจะร้องหาขวดนมอยู่ คุณแม่ต้องใจแข็งไว้ แล้วบอกกับลูกว่า ถ้าลูกหิว คงต้องกินนมกล่อง หรือนมจากแก้วแทน มันก็นมเหมือนกัน สุดท้ายเค้าก็จะยอมหยิบกินเอง สำหรับตอนกลางคืน ให้หากิจกรรมมาดึงความสนใจ และหาตุ๊กตา หรือหมอนข้างนิ่มๆมาให้ก่อนแทนขวดนม

 

ชมเชย ให้รางวัล เมื่อลูกทำได้ สิ่งที่ลูกอยากได้มากที่สุดก็คือ รอยยิ้ม และการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ถ้าลูกทำสำเร็จ คุณแม่อย่าลืมชม พร้อมกับรอยยิ้ม และให้ของรางวัลลูกด้วยนะคะ ความสำเร็จนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้ลูกน้อยพยายามทำสิ่งต่างให้สำเร็จ ได้อย่างอัศจรรย์เลยทีเดียว

 

สิ่งที่ยากที่สุดในการเลิกขวด ก็คือ ความใจแข็งของคุณแม่ เพราะมีคุณแม่มากมายที่ต้องล้มแผนการเอากลางคัน เพราะใจอ่อน ทนเสียงร้องของลูกน้อยไม่ไหว หรือห่วงสุขภาพของลูกเมื่อลูกต่อต้านไม่ยอมทานอะไร แต่เชื่อเถอะค่ะ ถ้าคุณแม่เสียงแข็ง สุดท้ายเค้าทนหิวไม่ไหว ก็จะดื่มนมจากแก้ว หรือนมกล่องไปเอง กุญแจสำคัญ คือ คุณแม่ ถ้าทำใจได้แล้ว ก็เริ่มแผนการกันได้เลย ^^

 

เขียนโดย www.babekits.com