เกือบทุกครอบครัว มักจะพบปัญหา พี่อิจฉาน้อง ที่เพิ่งคลอดมาใหม่ เพราะเค้าเคยเป็นคนเดียวที่ได้รับความรัก การดูแล และได้เวลาแบบเต็มๆ จากคุณพ่อคุณแม่ แต่แล้วทุกสิ่งกลับเปลี่ยนไป คุณพ่อคุณแม่เริ่มทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับน้องน้อย จนไม่มีเวลาดูแลพี่คนโตมากนัก ทำให้พี่คนโตเกิดความอิจฉา และแสดงพฤติกรรมถดถอยเพื่อเรียกความสนใจ เช่น อยากกลับไปดูดขวดนม ถ้าไม่ได้ดังใจก็ร้องไห้โวยวาย หรือร้องให้อุ้ม ร้องไห้แข่งกับน้อง แต่พฤติกรรมเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณแม่รู้จักเตรียมการณ์ไว้ก่อน มาดูกันค่ะ

 

ทำไม พี่ต้องอิจฉาน้อง

สาเหตุหลักคือ เค้ารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พี่คนโตเริ่มได้รับเวลา และการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่น้อยลง ทุกคนกลับไปรุมล้อมแต่น้องใหม่กันหมด พอจะเข้าไปดูน้อง หรือขอมีส่วนร่วมด้วย ก็ถูกกีดกันออกมา เพราะกลัวว่าจะไปทำให้น้องร้องไห้ สุดท้ายก็ต้องอยู่คนเดียว เหตุการณ์นี้ยิ่งจะส่งเสริมให้พี่คนโตอิจฉาน้อง และโทษว่าน้องแย่งทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเค้าจนหมด

 

วิธีแก้ปัญหา พี่อิจฉาน้อง

หนูกำลังจะเป็นพี่แล้วนะ

คุณแม่ควรรีบบอกพี่คนโตแต่เนิ่นๆ ว่า “หนูกำลังจะเป็นพี่แล้วนะ แม่กำลังจะมีน้องมาเล่นกับหนูแล้ว” ให้เค้ารู้สึกตื่นเต้นว่ากำลังจะได้เป็นพี่ คุณแม่ถือโอกาสนี้สอนให้เค้าเริ่มทำกิจวัตรง่ายๆ ตามวัยของเค้าด้วยตนเอง เช่น ทานข้าวเอง อาบน้ำเอง หรือสอนให้ช่วยงานคุณแม่อย่างง่ายๆ เป็นการเตรียมพร้อมยามที่น้องน้อยคลอดออกมา

มาเล่นกับน้องในท้องกัน

สอนพี่คนโตให้รู้จักบทบาท “พี่” อย่างแท้จริง คุณแม่เริ่มได้ตั้งแต่ตอนลูกคนเล็กอยู่ในท้อง จับมือเค้ามาลูบหน้าท้อง พร้อมกับบอกว่า ตอนนี้น้องตัวเล็กแค่ไหน เริ่มมีแขนมีขารึยัง ชวนพี่คนโตเล่นด้วยกัน เช่น “ตอนนี้น้องเริ่มได้ยินเสียงแล้วนะ งั้นเรามาเล่านิทาน ฟังไปพร้อมๆกันดีมั้ยจ๊ะ” หรือ “น้องเริ่มแข็งแรงแล้วนะ ดูซิ!! ตีลังกาในท้องแม่ใหญ่เลย ลูกลองมาจับดูมั้ยจ๊ะ” ลองให้เค้าจินตนาการหน้าตาของน้องไปพลางๆ รอลุ้นตอนคลอดไปพร้อมๆกับคุณพ่อคุณแม่ไปเลยค่ะ

 

มาช่วยแม่เลี้ยงน้องกันนะ

ก่อนที่น้องน้อยจะคลอด คุณพ่อคุณแม่ลองถามพี่คนโตดูนะคะ ว่า “ถ้าน้องคลอดออกมาแล้ว หนูจะช่วยแม่เลี้ยงน้องยังไงบ้าง” ส่งเสริมให้เค้าทำให้ได้อย่างที่พูด พร้อมกับชมเชย จะช่วยให้พี่คนโตภูมิใจ และหันมาช่วยคุณแม่เลี้ยงน้องอย่างเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว  รวมถึงให้เค้ามีส่วนร่วมในการเลือกซื้อสิ่งของเตรียมให้น้องน้อยด้วยนะคะ

 

แม่ให้เวลาน้องมากหน่อย แต่ยังรักหนูเหมือนเดิมนะจ๊ะ

เมื่อน้องน้อยคลอดมาแล้ว ก็ถึงคราวที่คุณแม่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่คนโต ว่าทำไมคุณแม่จำเป็นต้องใช้เวลากันน้องคนเล็กมากเป็นพิเศษ บอกเค้าให้เข้าใจ ว่าเพราะน้องยังช่วยตัวเองไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า แม่รักลูกน้อยลง ตอนลูกเล็กๆ แม่ก็ทำแบบนี้เหมือนกัน คุณแม่ลองเปิดภาพถ่ายสมัยพี่คนโตยังเล็กมาเปิดให้เค้าดู พร้อมกับอธิบายว่า คุณแม่ก็ป้อนนม อุ้มหนู อาบน้ำให้หนู เหมือนที่ทำกับน้องตอนนี้ จะช่วยให้พี่เข้าใจได้มากขึ้น และลดความอิจฉาน้องลงไป

อย่ากีดกันพี่คนโตออกห่างจากน้องเล็ก

ถึงพี่คนโตจะยังไม่รู้จักแรงของตน จนอาจทำให้น้องเล็กบาดเจ็บได้ง่ายๆ แต่คุณแม่ก็ไม่ควรกีดกันพี่คนโตออกไป เพราะสุดท้ายแล้ว จะกลายเป็นว่าเค้าอยู่คนเดียว ขณะที่น้องเล็กมีผู้ใหญ่รุมล้อมตลอดเวลา คุณแม่ควรจะชวนเค้ามาร่วมวง และคอยบอกว่าน้องมือเล็ก เท้าเล็ก คอยังไม่แข็ง หันหัวเองยังไม่ค่อยได้ ดังนั้น หนูต้องช่วยแม่ทะนุทนอมน้องด้วยนะ

 

หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำร้ายจิตใจลูก

คำพูดบางคำจากปากคุณพ่อคุณแม่ หรือแขกที่มาเยี่ยมน้องใหม่ จะสร้างบาดแผล และส่งเสริมให้พี่คนโตอิจฉา จนเกิดเป็นความเกลียดน้องได้อย่างไม่รู้ตัว ดังนั้น ห้ามเชียวค่ะ ตัวอย่างคำพูด เช่น แม่มีน้องใหม่แล้ว ไม่มีคนสนใจเราแล้ว หรือ หนูจะกลายเป็นหมาหัวเน่าแล้ว ฯลฯ

 

ขอให้ญาติ หรือเพื่อนสนิทที่มาเยี่ยมน้องเล็ก มีของเผื่อให้พี่คนโตด้วย

เพื่อไม่ให้พี่คนโตน้อยใจ และคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่สนใจอีกแล้ว ดังนั้นคุณแม่เตรียมการไว้ก่อนจะเป็นการดีค่ะ บอกกับญาติ หรือเพื่อนสนิทที่จะมาเยี่ยมไว้ก่อน และบอกกับพี่คนโตว่า ของที่ได้มา เป็นรางวัลที่ช่วยแม่ดูแลน้อง รวมถึงบอกเล่าชมเชย สิ่งดีๆ ที่พี่ทำให้น้อง กับแขกที่มาเยี่ยม เพียงเท่านี้ รับรองค่ะ ว่าเค้าต้องภูมิใจมากเลยทีเดียว

 

แบ่งเวลากับพี่คนโต โดยไม่มีน้องคนเล็กเข้ามากวน

คุณพ่อคุณแม่อย่ามัวแต่เอาใจใส่ลูกคนเล็ก จนลืมคิดถึงพี่คนโต อย่าคิดว่าเค้าจะเข้าใจเหตุผลทุกอย่าง เพราะถึงยังไง เค้าก็ยังเป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ควรหาช่วงเวลาที่คนเล็กนอนหลับ มาเล่นกับคนพี่บ้าง หรือถ้าคุณแม่แบ่งเวลาไม่ได้ ก็สลับให้คุณพ่อมาช่วยดูน้องเล็ก หลังกลับจากทำงาน คุณแม่จะได้มีเวลามาเล่นกับพี่คนโต ทำให้เค้าไม่รู้สึกว่าถูกแย่งเวลา หรือความรักไป

คุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ให้ดี

ช่วงแรกๆหลังคลอด คุณแม่นั้นแสนจะเหนื่อย ไม่ว่าจากการดูแลน้องน้อยที่ตื่นเกือบทุกชั่วโมง และยังต้องหาเวลาปั๊มนม จนแทบไม่ได้หลับได้นอน แต่คุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ อย่าพาลเอากับพี่คนโตเด็ดขาด ระวังคำพูดให้ดี เช่น “อย่าดื้อ อย่าซน อย่าเพิ่มงานให้แม่ ดูซิ แม่เหนื่อยมากแล้วนะ” รวมถึงคำพูดที่เปรียบเทียบระหว่างพี่กับน้อง เช่น “ดูซิ น้องไม่ดื้อเลย สู้น้องไม่ได้เลย” คำพูดบางคำ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่คนโตเริ่มคิดแค้นเคืองกับน้องเล็กได้

 

มาเล่นกัน กอดกันทั้งครอบครัว

นอกจากหาเวลาส่วนตัวให้ทั้งคนพี่ และคนน้องแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมหาเวลาให้ทั้งคนพี่ และคนน้องพร้อมๆกัน เป็นเวลาของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอย่างง่ายๆ เช่น จ๊ะเอ๋ หรือจะเป็นชั่วโมงดนตรี ด้วยเพลง ABC ให้ทั้งพี่คนโต และน้องคนเล็กสนุกไปพร้อมๆกัน เป็นการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ดี และอย่าลืมโอบกอบทั้ง 2 คน พร้อมๆกัน เป็นการสร้างความรัก ความผูกพันธ์ที่ดีนะคะ

 
ปัญหาพี่อิจฉาน้อง เชื่อว่าเกิดกับทุกครอบครัว แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมว่า พี่คนโต เริ่มรู้เรื่อง มีอารมณ์ และความรู้สึกแล้ว ขณะที่น้องน้อยยังมีพัฒนาการไม่ถึง ดังนั้น อย่าลืมคิดถึงใจของพี่คนโต แค่คุณแม่ปรับพฤติกรรมบางอย่าง ทำให้พี่คนโตรู้สึกว่า น้องเป็นคนที่มาเพิ่มความรักให้กับเค้า ไม่ใช่มาแย่งความรักไปจากเค้า เพียงเท่านี้ ครอบครัวก็จะมีแต่ความอบอุ่น พี่น้องรักกันค่ะ ทางร้าน Babekits ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

 

เขียนโดย www.babekits.com